เรียบเรียงโดย อาจารย์ดุจหทัย วงษ์กะพันธ์
เขียนโดย นลินี เนติธรรมากร
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีงานแสดงสิ่งทออยู่หลายงานและงานแสดงลักษณะนี้ดูเหมือนจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างมีนัยยะสำคัญอันเนื่องจากได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน นอกจากนี้แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเติบโตของจำนวนผู้ซื้อที่มีความนิยมผ้าจากประเทศทางฝั่งยุโรปมากกว่าประเทศในฝั่งเอเชีย ความต้องการผ้าผืนและสิ่งทอมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
หนึ่งในงานแสดงสิ่งทอที่มีความน่าสนใจคืองาน European Fabric Fairs ซึ่งประกอบไปด้วยงานแสดงสินค้าผ้าผืนที่สำคัญ อาทิเช่น งาน “Munich Fabric Start” ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนี งาน “Milano Unica” ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี งาน “Texworld” และงาน “Première Vision (PV)” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยงาน PV นั้นถือได้ว่าเป็นงานแสดงสินค้าสิ่งทอและผ้าผืนที่มีความสำคัญที่สุดในยุโรป เพราะนำเสนอรูปแบบสิ่งทอใหม่ๆที่ครอบคลุมทุกกลุ่มตลาดในอุตสาหกรรมแฟชั่นปัจจุบัน นอกจากนี้งาน PV ยังนำเสนอสินค้าและวัตถุดิบชั้นนำที่เน้นถึงคุณภาพ ความคิดสร้างสรรค์และการใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆในการผลิตสินค้า ในแต่ละปีจะมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ นำสินค้าไปจัดแสดงและมีลูกค้าจากแบรนด์แฟชั่นทั่วโลกไปเสาะหาวัตถุดิบจากงานนี้เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานออกแบบ นอกจากนี้งาน PV ยังมีการนำเอาผ้าที่มีนวัตกรรมใหม่และมีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมในอนาคตมานำเสนอให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้อีกด้วย
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 15 อารมณ์หรือเรื่องราวที่สื่อสารผ่านงาน European Fabric Fairs คือ "RELAXED OPTIMISM" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการมองโลกในด้านที่ดีและความน่าตื่นเต้นของโลก ภายในงานผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตสิ่งทอที่มีความแปลกใหม่จากประเทศต่างๆ ซึ่งสิ่งทอเหล่านี้จะมีการประดับประดาให้เกิดพื้นผิวที่น่าสนใจ มีการสร้างมิติให้กับผืนผ้า เนื้อผ้าที่ต่างกันสีสันที่ต่างกันถูกนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งทอในรูปแบบใหม่ การใช้สีสันที่ตัดกันเป็นหนึ่งในแนวโน้มการใช้ผ้าที่น่าจับตามอง ผ้าทวีดแบบย้อนยุคยังคงได้รับความนิยม หากแต่รายละเอียดบางอย่างได้ถูกปรับเพื่อให้ผ้ามีคุณสมบัติดีขึ้น ผ้าหลายชนิดผลิตขึ้นจากวัตถุดิบและผ่านกระบวนการต่างๆภายใต้ระบบการผลิตแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ผืนผ้าใหม่ๆของงาน PV คือ การมอบรางวัล The PV Awards โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ The Grand Jury Prize, The Innovation Prize, The Handle Prize และ The Imagination Prize ซึ่งมีคณะกรรมการจากนานาชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกผลงานที่เหมาะสมกับรางวัลในแต่ละสาขา โดยมีเกณฑ์การตัดสินหลักคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและความสมบูรณ์แบบของตัวผลงาน
สำหรับรางวัลแรก The Grand Jury Prize ในปีนี้บริษัท Komatsu Seiren จากประเทศญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกจากผลงานนวัตกรรมผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นผ้าที่เกิดจากการนำวัสดุ 3 ชนิดมาอยู่ร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าผ้า Bonded fabric ซึ่งเป็นผ้าที่มีเทคนิคใหม่ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยผ้าชนิดนี้จะประกอบไปด้วย วัสดุสีเขียวจาก Polyurethane foam อยู่ตรงกลางระหว่างผ้าลายตารางและผ้าสักหลาด รางวัลต่อมา The Innovation Prize เป็นของบริษัทสัญชาติอิตาลี Inseta ซึ่งเป็น Bonded fabric เช่นกัน หากแต่มีความแตกต่างกันที่ผ้าชนิดนี้ประกอบด้วยผ้าไหมสองชั้น ด้านหลังของผ้าเป็นสีดำ ผิวหน้าผ้าเป็นสีเขียวซึ่งผ่านกระบวนการที่ทำให้ผ้านั้นติดกัน ผลที่ได้คือผ้าที่มีความเหนียวแต่ความยืดหยุ่น อ่อนตัว และสปริงตัวได้ดี รางวัล The Handle Prize เป็นของ Luigi Colombo ซึ่งเป็นนักออกแบบชาวอิตาลี สำหรับผ้านี้มีเทคนิคที่คล้ายคลึงกับทางบริษัท Inseta สัญชาติเดียวกัน โดยรูปลักษณ์ผ้าชนิดนี้จะมีความหรูหรา นุ่มมือคล้ายผ้าสักหลาดอย่างดีที่ทำจากขนอูฐ ด้านหลังของผ้าอัดด้วย Polyurethane foam เช่นกัน และสุดท้ายรางวัลThe Imagination Prize เป็นของ The Austrian Embroiderer HOH กับผ้าลูกไม้ที่มีความทันสมัยผสมผสานกับงานฝีมือ ผ้าชนิดนี้มีความโดดเด่นในการใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น ยาง นำมาตัด และประกอบใหม่โดยการเย็บด้วยมือ
นอกจากรางวัลที่ให้กับองค์กรหรือผู้ที่สร้างสรรค์ผ้าชนิดใหม่ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนี้แล้ว ภายในงานยังมีการเผยแพร่แนวโน้มของผ้าที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมในฤดูกาลถัดไปด้วย ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ มีการนำเสนอแนวโน้มผ้าสำหรับปี 2014 / 2015 ซึ่งเน้นในแนวโน้มที่แสดงออกถึง “ความโรแมนติก” ไม่ว่าจะเป็นการประดับประดาผ้าในแนวโรแมนติก การทอผ้าแจ็คการ์ดด้วยลวดลายที่โรแมนติก รวมไปถึงผ้าพิมพ์ลายโรแมนติกต่างๆ ซึ่งลายพิมพ์บนผ้าเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นการพิมพ์แบบ Overprinted ซึ่งเป็นการพิมพ์ลายผ้าซ้อนทับลงบนผ้าที่ผ่านการพิมพ์ หรือผ้าที่ทอเป็นลวดลายในตัวผ้ามาแล้ว เทคนิคนี้ทำให้เกิดลายเส้นที่เกี่ยวพันกันดูซับซ้อนและมีมิติ โดยส่วนมากจะใช้สีสันที่ดูหรูหรา คมชัด และหนักแน่น แต่ก็มีการใช้สีแบบโมโนโทนด้วยเช่นกัน การพิมพ์ลายลงบนผ้าเครป ผ้าที่ได้จะมีความกรอบและหยาบในขณะที่การพิมพ์ลงบนผ้าวิสโคสหรือคูโปรจะให้สีสันที่คมชัดกว่า นอกจากนี้ยังมีการพิมพ์ลงบนกำมะหยี่และมีการสร้างจุดสนใจให้กับผืนผ้าโดยการเพิ่มสีเมทัลลิคเข้าไปด้วย ลวดลายที่พิมพ์ลงไปก็จะเป็นลวดลายที่ได้จากการเกี่ยวพันของเถาวัลย์ ลายดอกไม้ ลายทิวทัศน์ เป็นต้น ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความเป็นหญิงสาวสังคม มีความละเอียดอ่อน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการและการผลิตที่มีคุณภาพสูง แนวโน้มความนิยมนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างมิติให้กับพื้นผิวของผ้า ช่วยสร้างความน่าประทับใจทำให้ผ้าหลายรูปแบบได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตบางคนสามารถทำลวดลายนูนลงบนผ้าและการคิลท์ผ้าได้อย่างสวยงาม หากแต่เรื่องของน้ำหนักผ้าก็เป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงอย่างมากเพื่อไม่ให้ผ้าที่ผลิตขึ้นมามีน้ำหนักที่มากเกินไป เพราะจะเกิดเป็นปัญหาในการนำผ้าไปพัฒนาเป็นงานออกแบบต่างๆต่อไป
การทำเทคนิคให้เกิดพื้นผิวผ้าที่มีความจำเพาะช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับผืนผ้า และสามารถสร้างสรรค์ได้ตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นด้ายไปจนถึงโครงสร้างของการถักทอ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคใหม่ เช่น เทคนิค Reversible Double Face Fabric ซึ่งมีการตกแต่งสำเร็จให้ผ้าสองด้านมีพื้นผิวและสีสันที่แตกต่างกัน เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมจึงมีหลายองค์กรที่นำเสนอผืนผ้าที่ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคนี้อย่างหลากหลายในงานแสดงครั้งนี้ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในลักษณะของ Outerwear อีกทั้งเทคนิค Bonding ซึ่งเป็นเทคนิคที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้และคาดว่าจะเห็นได้บ่อยขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 15 เป็นเทคนิคที่ทำให้ร้อยละ 75 ของผ้าที่ชนะการประกวด ได้รับคัดเลือกว่าเหมาะสมกับรางวัล PV Award โดยการ Bonding คือการนำผ้าต่างชนิดกันมาประกบอัดเข้าด้วยกัน ทั้งนี้แต่ละชั้นของผ้าจะถูกทำให้ติดกันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น กาว การละลาย หรือการทำให้ติดกันด้วยคุณสมบัติของผ้าแต่ละชนิดเอง เพื่อให้เกิดโครงสร้างเมื่อสวมใส่ และดูมีน้ำหนัก
เทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอรูปแบบต่างๆที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดนวัตกรรมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและการสร้างสรรค์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ เกิดเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าทวีดแนววินเทจ การเพิ่มชั้นของผ้าวูลด้วยวิธีการ เคลือบผิวชั้นบนของผ้า (Laminated fabric) เพื่อเพิ่มความทนทานให้กับผืนผ้า
"RELAXED OPTIMISM" ซึ่งเป็นอารมณ์ของงาน European Fabric Fair ครั้งนี้ได้แบ่งการนำเสนอผืนผ้าตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Outer & Over และ Tops & Shirts โดยจากสองกลุ่มนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม “Evening Focus” เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ มีความคลาสสิค ผิวสัมผัสนุ่มนวลและลื่น มีความมันเงา กลุ่ม “Tech Focus” กลุ่มเสื้อผ้าที่นำเสนอเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติของเนื้อผ้า โดยส่วนมากจะเป็นเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าแบบแอคทีฟ และ กลุ่ม “Knitwear Focus” เป็นกลุ่มเสื้อผ้าที่เกิดจากการถักรูปแบบต่างๆ การใช้เส้นใยที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการผ้าที่น่าสนใจเกิดขึ้นในงานนี้ นั่นคือ Wash & Dye ที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเสื้อผ้ายีนส์และเสื้อผ้าลำลอง โดยในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ผสมผสานผ้าและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้มีความสบายในการสวมใส่มากขึ้น
จากแนวโน้มของผ้าและสิ่งทอที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ามีนักออกแบบที่มีชื่อเสียงในระดับโลกหลายท่านไม่พลาดที่จะนำผ้าดังกล่าวข้างต้นไปใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานของตนได้อย่างสวยงาม ซึ่งสามารถเห็นได้จากการแสดงแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของผู้หญิงหรือผู้ชาย อาทิเช่น Burberry Prorsum ในคอลเลคชั่นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย คอลเลคชั่น Men Fall 2014 ซึ่งนำเอาผ้าที่มีลักษณะการทอแบบเดียวกันกับทวีดด้วยขนสัตว์ ไม่มีลวดลาย นำมาออกแบบเป็น Outer & Over ของเสื้อผ้า เช่น เสื้อโค้ต แจ็คเก็ต และลวดลายตาราง ลายเส้นเรขาคณิตแนวย้อนยุค และลายเส้นคดเคี้ยวของดอกไม้ใบไม้ ผสมผสานกับการสไตล์ลิ่งด้วยผ้าพันคอไหม เพื่อนำเสนอถึงความเป็นมาสคิวลีนและเซ็กส์ช่วล และ ในส่วนของ Tops & Shirts แบรนด์ Dries Van Noten ในคอลเลคชั่น Men Fall 2014 ก็สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างลงตัว ด้วยการนำเสนอความเก่าด้วยกรรมวิธีการมัดย้อม (Tie-dye) และซักด้วยสารเคมีเข้มข้น โดยนำเสนอผ่านเสื้อเชิ้ตลายทางสำหรับใส่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีการคิลท์ผ้าเป็นเสื้อเชิ้ตด้วยผ้าไหม Pailo การพิมพ์ผ้าให้มีความหรูหราด้วยการพิมพ์กำมะหยี่ซ้ำบนผ้าที่พิมพ์ลวดลายสีสันมาแล้ว ซึ่งแนวความคิดของคอลเลคชั่นที่นักออกแบบต้องการนำเสนอคือเรื่องของความหรูหราและความโรแมนติกของบทกวีในสมัย Renaissance ที่สื่อออกมาทางภาพวาดจากจิตรกรเอก
ในส่วนของคอลเลคลชั่นเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง อาทิเช่น Issey Miyake ในคอลเลคชั่น Pre-Fall 2014 มีการนำผ้าที่ใช้เทคนิคการ Bonded และ Reversible Double Face Fabric มาใช้ในคอลเลคชั่น นำมาออกแบบเป็นโค้ทผ้าวูลสองสี สามารถใส่ได้ทั้งสองด้าน ประกอบกับการออกแบบให้มีโครงร่างเงาที่มีความตรงและเป็นโครงที่ชัดเจนแต่มีขนาดที่เหมาะสมกับสรีระ ประกอบกับมีการใช้เส้นโค้งในบางส่วน จึงทำให้โดยรวมดูนุ่มนวลน่าสวมใส่ นับเป็นการนำผ้าสำหรับฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 2015 มาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าได้อย่างชาญฉลาด ทำให้เมื่อสวมใส่แล้วรูปร่างไม่ดูเทอะทะและแข็งทื่อจนเกินไป
T by Alexander Wang จากดีไซเนอร์ Alexander Wang ที่มากับการออกแบบคอลเลคชั่น Pre-Fall 2014 โดยมีกลิ่นอายของความสปอร์ต โดยเลือกที่จะนำผ้าจากเทคนิค Bonded ที่แปลกใหม่นี้มาใช้ในส่วนฮู้ดของแจ็คเก็ต ในคอลเลคชั่นเป็นการนำผ้าขนสัตว์มาใช้ควบคู่กับผ้าสีสดเพื่อสร้างจุดสนใจให้กับคอลเลคชั่น ผสมผสานกับการใช้หนังทำให้ภาพรวมของคอลเลคชั่นให้ความรู้สึกถึงพลัง ความกระฉับกระเฉง และความคล่องตัว
ลวดลายโรแมนติกผสมผสานกับการใช้ผ้าที่มีความหนาและผ้าที่ใช้เทคนิคการ Bonded สำหรับฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 2015 ก็เป็นความโดดเด่นที่ลงตัวที่สามารถเห็นได้จาก M Missoni คอลเลคชั่น Pre-Fall 2014 ด้วยลวดลายพืชพรรณธรรมชาติและเถาไม้เลื้อยที่คดเคี้ยวเป็นลวดลายแนวโรแมนติก สีสันที่เลือกใช้เป็นกลุ่มสีที่มีความสดใสแต่นำมาลดค่าสีลงให้ดูสบายตามากขึ้น
และแบรนด์เชื้อสายไทยอย่าง Thakoon โดยดีไซเนอร์ Thakoon Panichgul ก็นำผ้าจากฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 15 นี้มาใช้ในคอลเลคชั่น Fall 2014 Ready-To-Wear ด้วยเช่นกัน โดยผ้าที่ใช้เป็นผ้าจากเทคนิคการ Bonded เพื่อเพิ่มความหนาให้กับเสื้อโค้ทและแจ็คเก็ต การใช้เทคนิค Reversible Double Face Fabric โดยที่อีกด้านหนึ่งของผ้าจะเป็นการตัดต่อด้วยผ้าที่มีลวดลายดอกไม้สีสันต่างๆ ผสมผสานกับลายตารางทั้งสีอ่อนและสีเข้ม ทว่ายังคงเอกลักษณ์และสไตล์การออกแบบของ Thakoon ได้เป็นอย่างดี
ในงาน Première Vision ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสนี้ได้นำเสนอสิ่งทอหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มตลาดสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในงาน ยังนำเสนอสินค้าและวัตถุดิบชั้นนำที่เน้นถึงคุณภาพ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีของผ้า โดยเทคนิคหลักที่นำเสนอในงานและเป็นแนวโน้มการใช้สิ่งทอประจำฤดูกาลฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว 2014 / 15 ได้แก่ เทคนิคการ Bonded เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผ้ามีคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น หรือจะเป็น เทคนิคการ Reversible Double Face Fabric ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของผ้าเช่นกัน แต่นักออกแบบเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงดังที่กล่าวในตัวอย่างข้างต้น มักนำมาตีโจทย์ต่อด้วยการทำให้เสื้อผ้านั้นสวมใส่ได้ทั้งสองด้าน ซึ่งนี่เองเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ต่อยอดด้านการใช้สอยของผ้าอย่างแยบยล นอกจากนี้ลวดลายการพิมพ์และกรรมวิธีการพิมพ์ก็เห็นได้อย่างชัดเจนจากคอลเลคชั่นล่าสุดจากแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลายผ้าด้วยลายดอกไม้ใบไม้ การย้อมด้วยวิธีการต่างๆ แล้วนำไปซัก (Wash & Dye) เพื่อทำให้สีสันที่สดใสนั้นจางลง และการพิมพ์ผ้าทับลงบนผ้าที่ผ่านการพิมพ์หรือทอเป็นลวดลายมาแล้ว เช่น การพิมพ์กำมะหยี่ เพื่อเพิ่มผิวสัมผัสให้กับเนื้อผ้าให้มีความน่าสนใจ และเผยให้เห็นถึงแนวความคิดของคอลเลคชั่นได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้งาน Première Vision จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าผืน ความน่าสนใจของผ้าและเทคโนโลยีของผ้าแบบไหนที่จะถูกนำมาเสนอในงานนี้นั้นก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
source:http://www.thaitextile.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น